Case study of safety status of laboratory workers in a chemical industrial plant กรณีศึกษาสถานภาพด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของโรงงานอุตสาหกรรมเคมีแห่งหนึ่ง

Paweena Kreunin, Akarin Paibulpanich, Pitchaya Buthkhuntong

Abstract


บทคัดย่อ

กรณีศึกษาครั้งนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของโรงงานอุตสาหกรรมเคมีเอกชนแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับสถานภาพด้านความปลอดภัย โดยเน้นไปที่การได้รับการฝึกอบรม การปฏิบัติงานของบุคลากร และระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นตัวอย่างการนำผลการสำรวจไปประกอบการพิจารณาแนวทางการพัฒนาปรับปรุงความปลอดภัยขององค์กร งานวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย โดยสอบถามความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของโรงงานจำนวน 205 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย

จากการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเกือบทุกคนได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนการเข้าทำงานในห้องปฏิบัติการ โดยได้รับความรู้ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร และยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรในหน่วยงานเพื่อป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่มีการนำความรู้ด้านการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) และนำเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) มาใช้ในการทำงาน และมีความเห็นว่าองค์กรมีระบบการจัดการความปลอดภัยที่ดี

อย่างไรก็ดี แม้เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเกือบทุกคนจะผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัย และคิดว่าองค์กรมีระบบการจัดการความปลอดภัยที่ดี ก็ยังเคยเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานรักษาพยาบาล ข้อเท็จจริงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรยังต้องมีการพัฒนาระบบความปลอดภัยต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการคิดว่า องค์กรควรมีการอบรมทบทวนให้ความรู้ และเสริมความเข้าใจเชิงลึกด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างวัฒนธรรมและความตระหนักด้านความปลอดภัยแก่บุคลากรโดยเฉพาะเรื่องสารเคมี มีการประเมินความเสี่ยงโดยอาจทำการสำรวจในทำนองเดี่ยวกันนี้อยู่เป็นระยะๆ  อีกทั้ง ควรมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติเดิม ให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ และเกิดการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ทั้งนี้ หน่วยงานอื่นที่มีห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกัน สามารถดำเนินการสำรวจในลักษณะเดียวกัน หรืออาจทำการสำรวจเชิงลึกเพิ่มเติม เพื่อนำผลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาหาแนวทางการปรับปรุง พัฒนา และส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานในห้องปฏิบัติการของตนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

 


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License.