จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ในปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันรณรงค์และให้ความรู้ประชาชนให้หมั่นดูแลสุขภาพและแนะนำวิธีการป้องกันการติดเชื้อของโรคดังกล่าวหลายวิธี โดยวิธีที่เราทุกคนสามารถทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูงคือ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เนื่องจากเชื้อ COVID-19 หุ้มด้วยไขมันและโปรตีน การล้างมือด้วยสบู่นาน 20 วินาที จะดึงไขมันออก ทำให้เซลล์ไวรัสแตกตัว นับเป็นการทำลายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากเราอยู่นอกบ้านอาจไม่สะดวกล้างมือด้วยน้ำและสบู่ “เจลล้างมือ” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคสำหรับมือได้
(ที่มา : http://www.cleothailand.com/beauty/ (ที่มา : https://www.pobpad.com/
cloe-beauty-10-alcohol-hand-gels-covid19.html) เจลล้างมือ-ความสะอาดฉบั)
เจลล้างมือเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถพกพาได้สะดวก เพื่อทำความสะอาดมือเวลาที่ไม่สะดวกในการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ช่วยลดการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัส เจลล้างมือจัดเป็นผลิตภัณฑ์หมวดเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ แอลกอฮอล์ เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล (Ethyl alcohol หรือ Ethanol) ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพานอล (Isopropyl alcohol หรือ Isopropanol) หรือเอ็น-โพรพิลแอลกอฮอล์ หรือเอ็น-โพรพานอล (n-propyl alcohol หรือ n-propanol) ทำให้นิยมนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อผิวหนังและพื้นผิวทั่วไป เนื่องจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสบางชนิด เมื่อละลายกับน้ำจะสามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคได้ดี ทำให้โปรตีนเสียสภาพและเยื่อหุ้มเซลล์แตก
(ที่มา : https://eshop-best-chemical.com/products/ethyl-alcohol-ethanol)
ในขณะที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นกลัวและต้องการเจลล้างมือกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เจลล้างมือกลายเป็นสินค้าหายากและขาดตลาด ด้วยเหตุนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด จึงมีนโนบายให้ผลิตเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือสูตร กรมวิทยาศาสตร์บริการขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันของเชื้อไวรัสฯ และสุขอนามัยที่ดี ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค โดยส่วนผสมและวิธีการทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สูตรกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีดังนี้
ส่วนผสมที่ใช้ (ส่วนผสมเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านเคมีสำหรับทำเครื่องสำอางทั่วไป)
1. Ethanol 95% ปริมาณ 750 มิลลิลิตร
2. Glycerin ปริมาณ 9 กรัม
3. 2% Lanolin ปริมาณ 9 กรัม
4. Triethanolamine 99% (TEA) ปริมาณ 0.75 กรัม
5. Carbopol 940 ปริมาณ 3.6 กรัม
6. น้ำสะอาด ปริมาณ 225 มิลลิลิตร
วิธีทำ
1. ชั่ง Carbopol 940 3.6 กรัม ละลายในน้ำสะอาด 225 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน เพื่อให้ Carbopol 940 ละลายจนหมด
2. เติม Ethanol 95% 750 มิลลิลิตร ลงในภาชนะที่มี Carbopol 940 ละลายอยู่ คนให้เข้ากัน
3. เติม Glycerin และ 2% Lanolin คนให้เข้ากัน
4. ค่อยๆ เติม TEA คนจนเป็นเนื้อเจล และคนต่อจนเนื้อเนียนไม่เป็นก้อน/เม็ด
5. บรรจุใส่ขวด สามารถใช้งานได้ทันที
(ที่มา : https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/1166-covid-24)
หมายเหตุ วิธีเตรียม 2% Lanolin ชั่ง Lanolin 5 กรัม ละลายในน้ำร้อน 250 มิลลิลิตร คนให้ละลาย เทกลับใส่ขวด
การผลิตเจลล้างมือสูตรดังกล่าว จะได้ปริมาณเจล 900 มิลลิลิตร สามารถเก็บใส่ภาชนะปิดสนิทได้นานประมาณ 1 ปี และมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ 71.2% โดยเป็นความเข้มข้นที่เหมาะสมสำหรับฆ่าเชื้อโรค รวมทั้ง ยังได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์มากกว่า 70% ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทรศัพท์ 02-201-7301 หรือ 02-201-7179 และสามารถดูการสาธิตวิธีทำเจลล้างมืออย่างละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/ScienceDoctorD/videos/2498990727023114/
(ที่มา :https://www.bangkoklifenews.com/17182515/ทำ-เจลล้างมือ-ใช้เอง-ไม่ยาก-จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ-)
ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามที่กำหนด เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อใช้เจลล้างมือทำความสะอาดมือควรใช้ให้ถูกวิธี โดยเทเจลล้างมือประมาณ 2-3 มิลลิลิตร ลงในฝ่ามือ ถูให้ทั่วทั้งสองมือเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที ปล่อยให้แห้งในอากาศ การเก็บรักษาควรเก็บในภาชนะปิดสนิทในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดด เพราะจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหย และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดลง ควรหลีกเลี่ยงเปลวไฟ เนื่องจากเจลล้างมือมีส่วนผสมของแอลกอออล์ในปริมาณมาก สามารถทำให้ติดไฟได้ อีกทั้ง ไม่ควรใช้เจลล้างมือกับเด็กทารก และบริเวณที่ผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา บริเวณที่ผิวอักเสบ มีสิว มีบาดแผล ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง
เอกสารอ้างอิง
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข. เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563. [ออนไลน์]
[อ้างถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563]. เข้าถึงจาก : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/054/T_0006.PDF
เพจ Doctor D กรมวิทยาศาสตร์บริการ. ส่วนผสมและวิธีทำเจลล้างมือ สูตรกรมวิทยาศาสตร์บริการ. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563].
เข้าถึงจาก : https://web.facebook.com/ScienceDoctorD
สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563].
เข้าถึงจาก : http://e-library.dmsc.moph.go.th/ebooks/files/ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ.pdf
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ. ‘เจลล้างมือ’ เรื่องต้องรู้ ทั้ง 'คนใช้-คนขาย'. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 11 มีนาคม 2563].
เข้าถึงจาก : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870200